เกาเหลา จากเมนูในภัตตาคารหรู สู่อาหารติดดินยอดนิยม

เกาเหลา จากเมนูในภัตตาคารหรู สู่อาหารติดดินยอดนิยม

เกาเหลา” เป็นก๋วยเตี๋ยวไร้เส้น ที่มีราคาแพงกว่าก๋วยเตี๋ยวปกติ เพราะลดแป้ง หนักโปรตีน เต็มไปด้วย เครื่องใน ผัก ลูกชิ้น เนื้อสัตว์ต่างๆ แต่เห็นชื่อจีนแบบนี้ แท้จริงแล้ว เกาเหลาเป็นเมนูที่มีอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้เดิมทีจะได้รับวัฒนธรรมการกินมาจากชาวจีนก็ตาม 

ที่มาของเกาเหลา

เกาเหลา เมนูที่ชาวไทยได้รับสืบทอดมาจากชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเรื่องเล่าว่า ชาวจีนคนหนึ่งได้นำเนื้อและวัตถุดิบต่างๆมาถวายให้กับวังเยอะมาก จนกินไม่ทัน  รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้นำของเหล่านี้ไปทำขนมจีนเลี้ยงพระในวันตรุษจีน ซึ่งประเพณีนี้ สืบทอดมาอย่างยาวนานจนถึงรัชกาลที่ 4 ท่านได้ทรงสั่งแก้ไขให้เปลี่ยนจากขนมจีนที่ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงความเป็นจีนเลยนอกจากชื่อ เปลี่ยนมาทำเป็นเกาเหลาแทนและโปรดให้แต่งตั้งเจ้ากรมเกาเหลาที่เป็นคนจีนมาทำเมนูเกาเหลาถวายพระด้วยตัวเอง เพราะส่วนผสมต่างๆในเกาเหลานั้น เต็มไปด้วยเครื่องปรุงเครื่องเทศสมุนไพรของจีน อีกทั้งยังมีเครื่องในสัตว์มากมาย

ที่ใครไม่รู้วิธีทำหรือไม่ใช่คนจีน อาจทำแล้วเสียของ มีกลิ่นคาวได้  เกาเหลาจึงเป็นเมนูเก่าแก่ที่อยู่คู่ชาวไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในสมัยก่อน เกาเหลาถือเป็นเมนูราคาแพง ไม่ใช่เมนูสามัญชนทั่วไป เพราะมักจะมีขายในภัตตาคารจีนหรูๆเท่านั้น ช่วงนั้นคนไทยนิยมเรียกภัตตาคารจีนว่า “เกาโหลว” แปลว่า ตึกสูง ในภาษาแต้จิ๋ว เวลาพูดก็จะติดปากว่า ไปกินเกาโหลว จนเพี้ยนมาเป็นคำว่า เกาเหลา ในปัจจุบัน ส่วนตัวตนที่แท้จริงของเมนูเกาเหลานั้น คือแกงจืดหรือซุปใส บ้างว่าเป็นเนื้อตุ๋นสูตรเฉพาะที่ขายในภัตตาคารจีนแห่งนี้ ลักษณะคล้ายกับก๋วยเตี๋ยวไม่มีเส้น คนไทยจึงทึกทักกันไปเองว่า มันคือก๋วยเตี๋ยวไร้เส้น

โดยเมนูนี้โด่งดังมากในประเทศจีน เป็นเมนูเนื้อตุ๋นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ถูกเรียกว่า “เนื้อตุ๋นสูตรซูตงโพ” ซึ่งซูตงโพเป็นบุคคลแรกเริ่มที่ทำให้เนื้อตุ๋นได้รับความนิยมในประเทศจีน เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาในไทยจึงได้รับวัฒนธรรมการทำซุปหรือเนื้อตุ๋นชนิดนี้ติดตัวมาด้วย ส่วนประกอบต่างๆในเมนูนี้ หลากหลาย ทั้งเครื่องใน เลือด ตับ หัวใจ ไส้ ลิ้น เนื้อหมู ไปจนถึงผักดอง เต้าหู้ ไข่ หอม พริกไทย นิยมรับประทานกับข้าวพร้อมน้ำจิ้มซอสพริกหรือซีอิ๊วที่โรยด้วยพริกซอย ซึ่งภายหลังเกาเหลาได้กลายเป็นอาหารสามัญชนจากนโยบายสนับสนุนให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เนื่องจากทุกร้านก๋วยเตี๋ยวมักมีเมนูเกาเหลาอยู่ด้วย 

นอกจากชื่ออาหารแล้ว เกาเหลายังถูกใช้เป็นคำสแลงสื่อถึงคนที่ไม่ถูกกัน อันมาจากสำนวน ไม่กินเส้น เพราะในเมนูเกาเหลาไม่มีเส้นอยู่เลย แต่แท้จริงแล้ว สำนวนไม่กินเส้นนั้น มาจากการจับเส้นเอ็นของหมอนวด ซึ่งเปรียบเปรยว่า หมอนวดจับเส้นไม่ถูก ตรงข้ามกับสำนวนถูกเส้นหรือกินเส้น ที่หมายถึง ตรงใจ เข้ากันได้ดี นั่นเอง รีวิวร้านอาหารอร่อย รีวิวคาเฟ่ รีวิวของใช้ในบ้าน รีวิวของใช้ในออฟฟิต

เครดิตภาพ 1 จาก www.cookpad.com

เครดิตภาพที่ 2 จาก www.khaosod.co.th

เครดิตภาพ 3 จาก www.sanook.com